เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 1. กาลิงควรรค 5. สีลวีมังสชาดก (305)
4. ทัททรชาดก (304)
ว่าด้วยนาคทัททระ
(นาคจูฬทัททระอดทนความดูหมิ่นไม่ได้ จึงพูดกับนาคผู้เป็นพี่ชายว่า)
[13] เจ้าพี่ทัททระ วาจาอันหยาบคายในมนุษยโลกเหล่านี้
ทำให้หม่อมฉันเดือดร้อน
พวกเด็กชาวบ้านไม่มีพิษนี้ ด่าหม่อมฉันผู้มีพิษร้ายว่า
พวกสัตว์กินกบกินเขียด พวกสัตว์น้ำ
(นาคมหาทัททรโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[14] บุคคลผู้ถูกขับไล่จากบ้านเมืองของตนไปอยู่ถิ่นอื่น
พึงสร้างฉางใหญ่ไว้เก็บคำพูดที่หยาบคาย
[15] สถานที่ใด ประชาชนไม่รู้จักสัตว์โดยชาติ หรือโดยวินัย
สถานที่นั้น เขาเมื่ออยู่ในกลุ่มชนที่ไม่มีใครรู้จักเลย ไม่ควรมีมานะ
[16] ผู้มีปัญญาแม้จะเปรียบด้วยไฟป่า เมื่ออยู่ยังต่างถิ่น
ก็ควรอดทนถ้อยคำคุกคามแม้ของผู้เป็นทาส
ทัททรชาดกที่ 4 จบ

5. สีลวีมังสชาดก (305)
ว่าด้วยการทดลองศีล
(พราหมณ์โพธิสัตว์กล่าวกับอาจารย์ว่า)
[17] ขึ้นชื่อว่าสถานที่ลับสำหรับกระทำกรรมชั่วไม่มีอยู่ในโลก
ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าก็ยังมีคนเห็น
คนพาลสำคัญอยู่ว่า กรรมชั่วนั้นเราได้ทำในสถานที่ลับ
[18] ข้าพเจ้าไม่พบสถานที่ลับ แม้สถานที่ว่างก็ไม่มี
ในสถานที่ใด ข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่าว่าง
แม้สถานที่นั้น ก็ไม่ว่างจากข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :159 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 1. กาลิงควรรค 7. ปลาสชาดก (307)
(พระศาสดาได้ตรัส 2 พระคาถานี้ว่า)
[19] ทุชัจจมาณพ สุชัจจมาณพ นันทมาณพ
สุขวัจฉนมาณพ วัชฌมาณพ และอัทธุวสีลมาณพนั้น
มีความต้องการหญิงสาว จึงพากันละธรรมเสีย
[20] ส่วนพราหมณ์ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง มีปัญญา
มีความก้าวหน้าในสัจจธรรม ตามรักษาธรรมอยู่
ละทิ้งอิตถีลาภเพราะเหตุอะไรเล่า
สีลวีมังสชาดกที่ 5 จบ

6. สุชาตาชาดก (306)
ว่าด้วยพระนางสุชาดา
(พระนางสุชาดาเทวีทูลถามพระราชาว่า)
[21] ฝ่าพระบาท ผลไม้สีแดงเกลี้ยงเกลาเหล่านี้
ที่เก็บไว้ในถาดทองคำ มีชื่อว่าผลอะไร
หม่อมฉันทูลถามแล้ว
ขอพระองค์จงตรัสบอกหม่อมฉัน
(พระราชาทรงกริ้ว จึงตรัสว่า)
[22] พระเทวี เมื่อก่อนเธอเป็นคนหัวโล้น
นุ่งผ้าเก่าเหน็บชายพก
เที่ยวเลือกเก็บผลไม้เหล่าใด
นี้เป็นผลไม้ประจำตระกูลของเธอ
[23] หญิงต่ำทรามผู้นี้อยู่ในราชตระกูล
ย่อมเดือดร้อนไม่รื่นรมย์
โภคะทั้งหลายย่อมละผู้ไม่มีบุญไป
พวกท่านจงนำหญิงนี้กลับไปในสถานที่ที่หล่อนเก็บพุทราขาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :160 }